วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย

นายพัฒนา ภู่สวาท
ตำแหน่ง นักบริหาร 8 การไฟฟ้านครหลวงเขตมีนบุรี E-mail address pattana_pusavat@yahoo.com

บทคัดย่อ
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 42 (2537) และกฎกระทรวงฉบับที่ 50 (2540) เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ใช้เป็นข้อกำหนดในการบังคับใช้กับอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งวิศวกรและสถาปนิกจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะทำการออกแบบและก่อสร้างอาคารหรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอาคาร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ส่วนหนึ่งของกฎกระทรวงที่จะต้องมีการตรวจสอบได้แก่ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
Abstract
Ministerial Regulation No. 33 (2535) issued under the Building Control Act BE 2522 amended by Regulation No. 42 (2537) and Ministerial Regulation No. 50 (2540) is used as a law enforcement requirements. building with towers and extra large. Engineers and architects must understand that good education before design and construction or installation of building To have no problems in the future. Part of the Regulations to require review include prevention and extinguishing systems.

Keyword: ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย

1. บทนำ
ในปัจจุบันสิ่งก่อสร้างต่างๆได้เกิดขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาคารขนาดเล็กหรืออาคารขนาดใหญ่ สถานประกอบการ โรงงานเป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่จะทำการก่อสร้างได้นั้นจะต้องผ่านกระบวนการการขออนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้นๆเสียก่อนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะต้องกลั่นกรองให้การกลั่นกรองตรวจสอบและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้การสิ่งก่อสร้างนั้นๆมีความแข็งแรงปลอดภัย แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ยังมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาให้เห็นอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นตึกถล่ม ไฟไหม้รุนแรงเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบสาเหตุแล้วก็มักจะได้ยินว่าสถานที่หรืออาคารนั้นๆสร้างไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ถูกติองตามกฎหมายกำหนด
ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่จะต้องทำการตรวจสอบและกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบอาคาร ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบใหญ่ทุกๆ 5 ปีและจะต้องมีการตรวจสอบประจำปีทุกๆปี โดยเน้นหลักใหญ่ๆได้แก่ การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคาร การตรวจสอบสมรรถนะของระบบและอุปกรณ์ต่างๆของอาคารและการตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
โดยเจ้าของอาคารมีหน้าที่ ต้องจัดหาผู้ตรวจสอบอาคาร เพื่อทำการตรวจสอบอาคารซึ่ง ต้องตรวจสอบครั้งแรกให้แล้วเสร็จและเสนอรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2548 ซึ่งนับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงใช้บังคับ เป็นผลให้อาคารที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบ ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกับสำนักงานควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง โดยจัดให้มีการตรวจสอบใหญ่ ก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2550 หลังจากนั้น ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ที่ว่าด้วยวิธีการตรวจสอบในแต่ละปี
กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 42 (2537) และกฎกระทรวงฉบับที่ 50 (2540) เป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ใช้เป็นข้อกำหนดในการบังคับใช้กับอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งวิศวกรและสถาปนิกจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะทำการออกแบบและก่อสร้างอาคารหรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบอาคาร เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง เพราะนอกจากวิศวกรและสถาปนิกจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในหลักวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมาแล้วอาจจะยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
ประเภทของอาคาร ที่ต้องตรวจสอบ
อาคารสูง
อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
อาคารชุมนุมคน
โรงมหรสพตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพัก ตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
อาคารชุด หรือ อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอย ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
ป้ายที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป
ขอบเขตของผู้ตรวจสอบอาคาร
การตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของอาคาร อาจมีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ตามที่กำหนดและตามที่ต้องการได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตของผู้ตรวจสอบ ดังนี้
ผู้ตรวจสอบมีหน้าที่ตรวจสอบ สังเกตด้วยสายตาพร้อมด้วยเครื่องมือพื้นฐานเท่านั้น จะไม่รวมถึงการทดสอบที่อาศัยเครื่องมือพิเศษเฉพาะทำรายงาน รวบรวมและสรุปผลการ วิเคราะห์ ทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้สอยอาคาร แล้วจัดทำรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่ทำการตรวจสอบนั้นให้แก่เจ้าของอาคาร เพื่อให้เจ้าของอาคารเสนอรายงานผลการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี
ผู้ตรวจสอบต้องตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ระกอบของอาคารโดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์หรือมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
1.หลักเกณฑ์ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการก่อสร้างอาคารนั้น หรือ
2. มาตรฐานความปลอดภัยของสถาบันของทางราชการ สภาวิศวกร หรือสภาสถาปนิก
ทั้งนี้ ณ สถานที่ วัน และเวลาที่ทำการตรวจสอบตามที่ระบุในรายงานเท่านั้น
ผู้ตรวจสอบต้องตรวจสอบอาคาร และอุปกรณ์ประกอบของอาคารอย่างน้อยต้องทำการตรวจสอบในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(1) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ดังนี้
(ก) การต่อเติมดัดแปลงปรับปรุงตัวอาคาร
(ข) การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักบรรทุกบนพื้นอาคาร
(ค) การเปลี่ยนสภาพการใช้อาคาร
(ง) การเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างหรือวัสดุตกแต่งอาคาร
(จ) การชำรุดสึกหรอของอาคาร
(ฉ) การวิบัติของโครงสร้างอาคาร
(ช) การทรุดตัวของฐานรากอาคาร
(2) การตรวจสอบระบบและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
(ก) ระบบบริการและอำนวยความสะดวก
ระบบลิฟต์
ระบบบันไดเลื่อน
ระบบไฟฟ้า
ระบบปรับอากาศ
(ข) ระบบสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
ระบบประปา
ระบบระบายน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย
ระบบระบายน้ำฝน
ระบบจัดการมูลฝอย
ระบบระบายอากาศ
ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง
(ค) ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
เครื่องหมายและไฟป้ายบอกทางออกฉุกเฉิน
ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจาย ควัน
ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
ระบบลิฟต์ดับเพลิง
ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
ระบบการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และ หัวฉีดน้ำดับเพลิง
ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
ระบบป้องกันฟ้าผ่า
(3) การตรวจสอบสมรรถนะของระบบ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอาคารเพื่อ อพยพผู้ใช้อาคาร
(ก) สมรรถนะบันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
(ข) สมรรถนะเครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
(ค) สมรรถนะระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้
(4) การตรวจสอบระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในอาคาร
(ก) แผนการป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคาร
(ข) แผนการซ้อมอพยพผู้ใช้อาคาร
(ค) แผนการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาคาร
(ง) แผนการบริหารจัดการของผู้ตรวจสอบอาคาร

2. ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย
2.1 บันไดหนีไฟและทางหนีไฟ
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535)
ข้อ 22 บันไดหนีไฟของอาคารสูง จากชั้นสูงสุดสู่พื้นดินมีบันไดหนีไฟอย่างน้อย 2 ชุด แต่ละบันไดต้องอยู่ห่างกันไม่เกิน 60 เมตร ลำเลียงคนทั้งหมดออกนอกอาคารได้ภายใน 1 ชม.
ข้อ 23 คุณสมบัติของบันไดหนีไฟ ต้อง• ทำด้วยวัสดุทนไฟและไม่ผุกร่อน มีความกว้างไม่น้อย กว่า 90 เซนติเมตร ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร มีราวบันไดอย่างน้อยหนึ่งด้าน ต้องไม่เป็นบันไดเวียน
ข้อ 24 บันไดหนีไฟและชานพักที่อยู่นอกอาคาร ต้องมี -ผนังด้านที่บันไดพาดผ่านต้องเป็นผนังกันไฟ
ข้อ 25 บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคาร ต้องมี อากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้ แต่ละชั้นต้องมี ช่องระบายพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.40 ตร.ม หรือ ระบบอัดลมภายในช่องบันไดหนีไฟที่มีความดันลม ไม่น้อยกว่า 38.6 pa (3.86pa)ทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟไหม้ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้และบันไดหนีไฟที่ลงสู่พื้นของอาคารต้องอยู่ในตำแหน่งที่สามารถออกสู่ภายนอกได้โดยสะดวก
ข้อ 26 บันไดหนีไฟที่อยู่ภายในอาคาร ต้อง• มีผนังกันไฟ โดยรอบ ยกเว้น ช่องระบายอากาศ มีแสงสว่างฉุกเฉินให้มองเห็นช่องทางได้ขณะเพลิง ไหม้ มีป้ายบอกชั้น มีป้ายบอกทางหนีไฟ ทั้งด้านในและด้านนอก ของประตูหนีไฟทุกชั้นด้วยตัวอักษรขนาดไม่ เล็กกว่า 10 ซม.

2.2 เครื่องหมายและไฟป้ายทางออกฉุกเฉิน
ความส่องสว่างพื้นทางเดินบนทางไปสู่ทางหนีไฟ บันได
- ต้องสว่างเฉลี่ยอย่างน้อย 10 ลักซ์
- ทำงานเมื่อไฟฟ้าดับหรือแสงสว่างปกติดับ
- แหล่งจ่ายไฟฟ้า ต้องเชื่อถือได้
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ต้องสับถ่ายกระแสไฟได้ภายใน 5 - 10 วินาที
- ต้องสว่างตลอดเวลาที่มีคนอยู่ในอาคาร และนานอย่างน้อย2 ชั่วโมงหลังจากไฟฟ้าปกติดับ
- ติดตั้งให้เห็นชัดในช่องทางเดินหรือทุกๆ 24
เมตร(ว.ส.ท.)
- ไฟที่ป้ายต้องส่องสว่างตลอดเวลาที่มีคนอยู่หรือมีการใช้อาคาร
- ขนาดสัญลักษณ์ ไม่น้อยกว่า 100 มม และห่างจาก ขอบ 25 มม
- ความส่องสว่าง ไม่น้อยกว่า 8 cd/m2
- แสดงทิศทาง ด้วยลูกศร


2.3 ระบบระบายควันและควบคุมการแพร่กระจายของควัน
วัตถุประสงค์ของการควบคุมควันไฟ
- ลดปริมาณก๊าซพิษลงได้มาก
- ลดความหนาแน่นของควันทำให้มองเห็น ทางออกได้ชัดเจนมากขึ้น
- ช่วยให้พนักงานดับเพลิงสามารถมองเห็นจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้การดับเพลิงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยลดปริมาณความร้อนจากเปลวเพลิง
- ลดความดันของอากาศเนื่องจากความร้อน
ซึ่งจะช่วยให้การขยายตัวของไฟน้อยลง
- ลดการติดไฟขึ้นมาใหม่ (Re-ignition) เนื่องจากความร้อนที่สะสมอยู่
- เมื่อระบายความร้อนออกไปแล้ว ก็จะช่วยให้การเสียหายหรือยุบตัวของโครงสร้างอาคารช้าลง

2.4 ระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉิน
กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)ครอบคลุมอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษข้อ 14. อาคารสูงและขนาดใหญ่ต้องมีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินและทำงานได้โดยอัตโนมัติ
- ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงสำหรับป้าย ฉุกเฉิน ทางเดิน
ห้องโถง บันได และระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย
- จ่ายได้ตลอดเวลาสำหรับลิฟต์ดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง ห้องช่วยชีวิตฉุกเฉินระบบสื่อสาร เพื่อความ
ปลอดภัยของสาธารณะเมื่อกระแสไฟฟ้าขัดข้อง

2.5 ลิฟท์ดับเพลิง
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) หมวด 6 ระบบลิฟต์ข้อ 43,44 อาคารสูง ต้องมีลิฟต์ดับเพลิงอย่างน้อย 1 ชุด บรรทุกน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 630 กิโลกรัม มีรายละเอียด ดังนี้
(1) ลิฟต์ดับเพลิงต้องจอดได้ทุกชั้นของอาคารและต้องมีระบบควบคุมพิเศษสำหรับพนักงานดับเพลิงใช้ขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้
(2) บริเวณโถงหน้าลิฟต์ดับเพลิงทุกชั้น ต้องติดตั้ง ตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง หรือ หัวต่อสายฉีดดับเพลิง
(3) บริเวณโถงหน้าลิฟต์ดับเพลิงทุกชั้นต้องมีผนังหรือประตูที่ทำด้วยวัสดุทนไฟระบบอัดอากาศภายในโถงลิฟต์ มีความดันใช้งาน ได้ไม่น้อยกว่า 3.86 pa ทำงานอัตโนมัติขณะไฟไหม้
(4) ระยะเวลาในการเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องของ ลิฟต์ดับเพลิง ระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนสุดของ อาคารต้องไม่เกิน 1 นาที ทั้งนี้ในเวลาปกติลิฟต์ดับเพลิงสามารถใช้เป็น ลิฟต์โดยสารได้
ข้อ 45 ปล่องลิฟต์ ภายในห้ามติดตั้งท่อสายไฟฟ้า ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ และ อุปกรณ์ต่าง ๆ เว้นแต่ส่วนประกอบของลิฟต์หรือที่จำเป็น สำหรับ การทำงานและการดูแลรักษาลิฟต์
ข้อ 46ระบบความปลอดภัยของลิฟต์ ต้องมี ดังนี้
(1)เมื่อไฟดับ ลิฟต์ต้องลงมาจอดชั้นล่างและเปิดประตูอัตโนมัติ
(2) ต้องมีระบบเตือนและหยุดทำงานเมื่อลิฟต์บรรทุกเกินน้ำหนัก
(3) ต้องหยุดลิฟต์ในระยะที่กำหนดอัตโนมัติ เมื่อมีความเร็วเกิน

2.6 ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ข้อ 16 อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมี ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทุกชั้น ประกอบด้วย
(1) อุปกรณ์ส่งสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึง
(2) อุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบที่แจ้งเหตุด้วยมือให้อุปกรณ์ตามข้อ (1) ทำงาน

2.7การติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้
ข้อ 19 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้อง ติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ ตามชนิดและขนาด ที่เหมาะสม ให้มีหนึ่งเครื่องขนาด ไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 ม. แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง ติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากพื้นไม่เกิน 1.5 เมตร
ข้อ 20 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมี ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น Sprinkler Systemหรือระบบอื่นที่เทียบเท่าที่สามารถทำงานได้ทันที เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ระบบดังกล่าวต้องครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทุกชั้น

2.8 ระบบการจ่ายน้ำดับเพลิง เครื่องสูบน้ำดับเพลิง และหัวฉีดน้ำดับเพลิง
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ ข้อ 18 อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมี ระบบป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งประกอบด้วยท่อยืน ที่เก็บน้ำสำรอง และ หัวรับน้ำดับเพลิง โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1) ท่อยืน- ท่อยืนต้องเป็นโลหะผิวเรียบ ทนความดันใช้งาน ไม่น้อยกว่า 1.2 MPa ทาสีแดง-ติดตั้ง ชั้นล่างสุดไปยังชั้นสูงสุดของอาคาร
(2) ต้องมีตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิง ทุกชั้น ที่ประกอบด้วย - หัวสายฉีดพร้อมสายฉีดน้ำดับเพลิง ขนาด 1 นิ้ว - หัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิงชนิดหัวต่อสวมเร็ว ขนาด 2 1/2 นิ้ว พร้อมฝาครอบและโซ่ร้อย - ติดตั้งทุกระยะ ห่างกันไม่เกิน 64 เมตร สายยาวไม่เกิน 30 เมตร
(3) ที่เก็บน้ำสำรอง-มีที่เก็บน้ำสำรองเพื่อใช้ในการดับเพลิง-ระบบส่งน้ำมีความดันต่ำสุดที่หัวต่อสายฉีด ดับเพลิงที่ชั้นสูงสุดไม่น้อยกว่า 0.45 Mpaแต่ไม่เกิน 0.7 Mpa ด้วยอัตราการไหล 30L/Sมีประตูน้ำปิดเปิด และประตูน้ำกันน้ำไหลกลับโดยอัตโนมัติ

2.9 ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
กฎกระทรวงฉบับที่ 33(พ.ศ.2535) หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ข้อ 20 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมี ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น Sprinkler Systemหรือระบบอื่นที่เทียบเท่าที่สามารถทำงานได้ทันที เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ระบบดังกล่าวต้องครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทุกชั้น

2.10 ระบบป้องกันฟ้าผ่า
ข้อ 13อาคารสูงต้องมีระบบป้องกันฟ้าผ่า ประกอบด้วย
-เสาล่อฟ้า สายล่อฟ้า สายตัวนำ สายนำลงดิน และหลัก สายดินที่เชื่อมโยงกัน
-สายนำลงดินต้องมีขนาด ไม่น้อยกว่า 30 ตร.มม
-สายนำลงดินนี้ต้องเป็นระบบที่แยกเป็นอิสระ จากระบบสายดินอื่น


4. สรุป
จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายๆส่วนที่จะต้องใช้ในการตรวจสอบอาคาร ซึ่งเจ้าของอาคารหรือผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมแต่หน้าที่หลักๆที่จะต้องดำเนินการมีดังนี้
· จัดหาหรือว่าจ้างผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน กับคณะกรรมการควบคุมอาคาร ตรวจสอบอา คารและอุปกรณ์ประกอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง
· จัดเตรียมแบบแปลนอาคาร และอุปกรณ์ประกอบอาคาร ในกรณีที่ไม่มีให้เจ้าของอาคาร
จัดทำแบบเพื่อใช้ในการตรวจสอบ
· จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง ร่วมวางแผนการตรวจสอบและอำนวยความ
สะดวกให้กับผู้ตรวจสอบขณะทำการตรวจสอบ
· ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขตามรายงานของผู้ตรวจสอบอาคาร
· จัดหาหรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ในกรณีผู้ตรวจสอบอาคารมีความเห็นว่า ต้องมี ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้าดำเนินการตรวจสอบ และทำรายงานเทคนิคเฉพาะสาขา
· จัดให้มีการตรวจสอบและทดสอบระบบโดยละเอียด ตามแผนงานที่กำหนด
· จัดให้มีการบันทึกข้อมูลการตรวจบำรุงรักษาตาม ช่วงเวลาที่กำหนด
· จัดให้มีการทดสอบสมรรถนะระบบความปลอดภัย การซ้อมอพยพหนีไฟ การบริหารจัดการ
ความปลอดภัย และอบรมพนักงาน
· จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบ ของผู้ตรวจสอบต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นทุกปี

เอกสารอ้างอิง
[1] วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์,2551.คู่มือเทคนิคการตรวจสอบอาคารเพื่อความปลอดภัย(สำหรับการตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย).กรุงเทพฯ:วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์.
[2] ชัชวาล คุณค้ำชู, 2550. กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยของไทย.ชื่อบทความ. การอบรมเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ประวัติผู้เขียน
นายพัฒนา ภู่สวาท จบการศึกษาปริญญาตรีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เทคนิคกรุงเทพ
ปัจจุบันทำงานอยู่ที่การไฟฟ้านคหลวงเขตมีนบุรี ตำแหน่งหัวหน้าแผนกออกแบบและประมาณราคา